18.6.09

ล้างพิษลำไส้ใหญ่ กากใยอาหารจากธรรมชาติช่วยคุณได้

ล้างพิษลำไส้ใหญ่ กากใยอาหารจากธรรมชาติช่วยคุณได้
ธรรมชาติได้สร้างให้ร่างกายมนุษย์มีระบบล้างพิษตามธรรมชาติที่ดีที่สุด


ปัจจุบันคำว่า ล้างพิษ กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนติดตามและสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อม ทำให้พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปจึงพยายามหาแนวทางที่จะคืนความสดชื่นและการมีสุขภาพที่ดีให้แก่ร่างกายให้เร็วที่สุด อันเป็นที่มาของกระแสการล้างพิษ ที่แบ่งออกเป็นวิธีล้างพิษแบบธรรมชาติโดยการกินผักและผลไม้เพื่อให้ได้กากใยมากๆ และวิธีล้างพิษแบบฝืนธรรมชาติอย่างการกินยาระบายหรือสวนล้างลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ว่าปลอดภัย และได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ

จากกระบวนการทำงานของตับ ไตและลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ที่มีหน้าที่กำจัดของเสียจากอาหารที่เรากินเข้าไปด้วยการขับถ่ายอุจจาระทุกวัน และสิ่งสำคัญที่จะเสริมให้การล้างพิษตามธรรมชาติของลำไส้ใหญ่มีประสิทธิภาพคือ เส้นใยอาหาร ที่ร่างกายได้รับจากการกินอาหารประเภทข้าวกล้อง ธัญพืช โฮลวีท ข้าวโอ๊ต ถั่ว ผักและผลไม้ เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง หลายคนอาจกินไม่ได้ตามที่ร่างกายต้องการทุกวัน ทำให้เกิดปัญหาท้องผูก เกิดของเสียหมักหมมในลำไส้ใหญ่ และถ้าเป็นเรื้อรัง ก็เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว หลายคนพึ่งวิธีการกินยาระบายและการสวนล้างลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายจุลินทรีย์ชนิดดีที่อยู่ในผนังลำไส้ใหญ่ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อให้เกิดโรค ดังนั้นหากสวนล้างลำไส้ใหญ่บ่อยเกินไปเท่ากับว่า เรากำจัดจุลินทรีย์ชนิดดีนั้นออกไปด้วย ผลก็คือ จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น และทำให้สูญเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย สรุปว่าอาจเป็นทางเลือกที่เร็วและเห็นผลทันที แต่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

ดังนั้นการล้างพิษด้วยการกินเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้ หรือสำหรับคนที่มีปัญหาการกินผักและผลไม้ อาจเลือกผลิตภัณฑ์เส้นใยอาหารธรรมชาติที่มีการแปรรูปและสะดวกต่อการกิน ยกตัวอย่างเช่น เส้นใยอาหารที่ได้จากเมล็ดและเปลือกแพลนตาโก้ ในรูปแกรนูลซึ่งสามารถพองตัวในลำไส้ใหญ่ได้ถึง 7 เท่า เพิ่มปริมาณกากอาหารเป็นก้อนในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหว เพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ ลดปริมาณสิ่งหมักหมมในลำไส้ใหญ่ เป็นการล้างพิษลำไส้ใหญ่โดยวิธีธรรมชาติ จะส่งผลดีต่อสุขภาพองค์รวมมากกว่า เพราะได้เส้นใยอาหารที่มีประโยชน์ถึง 2 ชนิด นั่นคือ เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ (water insoluble fiber) และเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ (water soluble fiber) ซึ่งควรได้รับอัตราส่วนที่เหมาะสมคือ 60:40

เนื่องจาก...
เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ จะพองตัวและอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าปริมาตรของตัวเองหลายเท่า ช่วยเพิ่มปริมาตรกากอาหารในลำไส้ ไม่ให้อุจจาระแห้งและแข็ง ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายและสบายขึ้น ไม่มีสิ่งหมักหมมค้างในลำไส้ใหญ่

เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ จะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆ ทำให้เกิดกรดไขมันชนิดสายสั้น (Short-chain fatty acid) ได้แก่ อะซิเตท โพรพิโอเนท และบิวทีเรท ซึ่งสารบิวทีเรทจะทำให้ค่า pH ในลำไส้ลดลงต่ำ มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของ จุลินทรีย์ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคและลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

สรุปแล้ว การล้างพิษที่ดีที่สุด คือ การล้างพิษตามธรรมชาติจากการกินอาหารที่สด ปรุงสะอาดมีกากใยสูงและมีคุณค่าต่อร่างกาย ควบคู่กับการดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนและทำจิตใจแจ่มใส และอาจใช้ผลิตภัณฑ์เส้นใยอาหารธรรมชาติเสริม ในกรณีที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย

ที่มา : นิตยสาร Health Today

2.6.09

ไฮไลท์ หรือ ทำร้าย เส้นผม

ไฮไลท์ หรือ ทำร้าย เส้นผม ?!?

ผิวผมจะถูกทำลาย ทำให้ผมไม่เรียบ หยาบ เมื่อสัมผัส ความลื่น ความเงาจะหมดไป
เส้นผมเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิต เจ้าของผมจะเหมือนไร้ชีวิตเมื่อเส้นผมไม่อยู่ในสภาพ ที่ใจคิด ในปัจจุบันการเปลี่ยนสีผมเป็นผมหงอกขาวตามวัยเป็นสิ่งที่หลายคนทำใจไม่ได้ แต่การเปลี่ยนสีตามกระแสนิยมกลับทำให้เจ้าของผม พึงพอใจ รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เส้นผมเป็นสิ่งพิเศษของชีวิตที่ต้องดูแลหลายขั้นตอน ต้องสระให้สะอาด สลวย เงางาม ตัด ดัดและจัดทรงผมให้รับกับใบหน้า


แต่เมื่อมีการชี้นำของธุรกิจแฟชั่นเส้นผม การจัดแต่งเส้นผมจึงเปลี่ยนไปตามกระแส จากผมเรียบสลวย สยาย กลายเป็นผมยุ่งเหยิง ชี้ตั้ง อย่างไร้ทิศทาง เส้นผมของวัยรุ่นและวัยทำงานเกือบทุกคนกำลังถูกทำทารุณกรรมอย่างหนัก ด้วยการฟอกกัดสีผม ภาษาทันสมัย คือ การทำ ไฮไลต์ เป็นการสร้างจุดเด่นจากการเปลี่ยนสีผม ซึ่งอาจทำเป็นสีเดียวหรือหลายระดับสีก็ได้ สีของเส้นผมสร้างจากเซลล์สร้างเม็ดสี ส่งสีเข้าในแกนผม โดย เม็ดสีมี 2 ชนิด คือ ยูเมลานิน เม็ดสีดำ และฟิโอเมลานิน สีจะกระจายอยู่ในใยผม จำนวนและการกระจายของสีทั้งสองแตกต่างกันตามพันธุกรรม ในคนเอเชียผมดำมีเม็ดสียูเมลานินกระจาย แน่นกลบเม็ดสีแดง ของฟิโอเมลานิน ส่วนคนผิวขาวผมสีทองมีเม็ดสียูเมลานินน้อยจึงเห็นสีของฟิโอเมลานินซึ่งมีสีแดง ในคนผมหงอก

การย้อมผมจะทำได้ง่ายหลายท่านย้อมเองใช้เวลาเพียง 30 นาทีผมก็จะดำ คุณภาพผมก็ยังคงเดิม ส่วนการทำไฮไลต์ กระบวนการจะแตกต่างกับการย้อมผม ต้องฟอกสียูเมลานินออกให้หมด จึงเห็นสีแดงของเม็ดสีฟิโอเมลานิน สีผมจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและสีทอง ขบวนการฟอกสีเป็นปฏิกิริยาเคมีแบบออกซิเดชั่นเกิดภายในแกนผม สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะซึมผ่านผิวผมซึ่งเกิดช่องว่างจากสภาพด่างของน้ำแอมโมเนีย จะปล่อยประจุออกซิเจนให้ยูเมลานินเป็นออกซียูเมลานินซึ่งไม่มีสี รศ.พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า สีผมมี 10 ระดับสี คือ ดำ น้ำตาล น้ำตาลแดงเข้ม น้ำตาลแดง น้ำตาลแดงอ่อน สีทองเข้ม สีทอง สีทองอ่อน สีทองอ่อนมาก และสีทองอ่อนที่สุด การฟอกสีผมจะค่อยเปลี่ยนไล่ลดสีลงตามระดับ สารฟอกสีผม คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มีจำหน่ายเพื่อให้ใช้เอง จะมีปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ร้อยละ 3 ร้อยละ 6 หรือ 12 สามารถลดระดับสีได้ 2-3 ระดับ ถ้าใช้ตามคำแนะนำจะปลอดภัย แต่ในร้านทำผมอาจใช้ปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในความเข้มข้นสูงมาก

เมื่อลูกค้าต้องการลดสีผมให้อ่อนลงหลายระดับในการฟอกกัดสีผมครั้งเดียวจึงเกิดปัญหาผมเสีย ตามมา เพราะใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในความ เข้มข้นสูงมาก และการ แช่ผมในน้ำแอมโมเนีย นาน ๆ จะทำลายพันธะไดซัลไฟด์ของโปรตีนผิวผมและใยผม หลังไฮไลต์นอกจากสีผมจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีทอง ไฟฟ้าสถิตบนผิวผมเพิ่มขึ้น ผมจึงฟูเมื่อแห้งและพันกันเมื่อเปียกน้ำ และการทำลายของใยผมทำให้เส้นผมเปราะขาดง่ายโดยเฉพาะเมื่อผมเปียก เส้นผมซึ่งสูญเสียโปรตีนไปจะอมน้ำมากและแห้งช้า แต่ผมไม่สามารถเก็บกักความชื้นได้จึงแห้ง กรอบ และหัก การฟอกกัดสีผมต้องทำโดยผู้ชำนาญทำด้วยความระมัดระวังไม่ทำลายเส้นผม กรณีผมดำต้องการผมเป็นสีทอง การฟอกสีต้องทำเป็นขั้นตอนค่อยเป็นค่อยไป อาจต้องทำ 3 ครั้ง ครั้งแรกฟอกสีดำเป็นสีน้ำตาลแดง ครั้งที่ 2 ฟอกผมสีน้ำตาลแดงให้เป็นสีทองประกายส้ม และครั้งที่ 3 ฟอกผมสีทองประกายส้มเป็นสีเหลืองทอง เพราะถ้าทำในครั้งเดียวเส้นผมจะไม่สามารถทนต่อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือสารออกซิไดซ์ อื่นได้.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์